ประเทศไทย เคยถูกขนานนามว่าเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย
แต่เศรษฐกิจของไทยในระยะหลังไม่โตอย่างที่ควรจะเป็น
จนหลายคนถึงกับมองว่าเรากลายเป็น เสือป่วยแห่งเอเชีย ไปแล้ว
แต่รู้หรือไม่ว่า ตอนนี้เรากำลังมีโครงการปลุกเสือ
ที่ไม่เพียงจะส่งเสริมรายใหญ่ แต่ยังรวมไปถึง SME ด้วย
EEC คืออะไร?
EEC ย่อมาจาก Eastern Economic Corridor หรือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในโครงการระดับเมกะโปรเจกต์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการจะพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของเขตเศรษฐกิจบริเวณภาคตะวันออกของไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยถือเป็นโครงการต่อยอดจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ที่ดำเนินการมานานกว่า 30 ปีแล้ว
โดยในระยะแรกของโครงการนี้ จะเริ่มต้นจากพื้นที่ในเขตจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเดิมก็เป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศอยู่แล้ว เต็มไปด้วยโรงงานมากมายในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีสนามบิน รวมถึงมีท่าเรือที่มีตู้สินค้าผ่านมากที่สุดเป็นอันดับที่ 22 ของโลก
การลงทุนหลักๆ ของ EEC จะไปอยู่ที่การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเดินทางและการขนส่ง ให้มีความพร้อมเพื่อรองรับและเอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะมีการร่วมทุนจากทางภาคเอกชนเข้ามาด้วยในบางโครงการ
EEC มีโครงการอะไรและใช้เงินลงทุนประมาณเท่าไรบ้าง?
พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติหลักแห่งที่ 3 ของไทย 200,000 ล้านบาท
สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) 158,000 ล้านบาท
รถไฟทางคู่เชื่อมแหล่งอุตสาหกรรมกับท่าเรือ 64,300 ล้านบาท
พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง 88,000 ล้านบาท
พัฒนาท่าเรือมาบตาพุด 10,150 ล้านบาท
ก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง 35,300 ล้านบาท
พัฒนาเมืองในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา 400,000 ล้านบาท
ลงทุนด้านการท่องเที่ยว 200,000 ล้านบาท
พัฒนาเขตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและลงทุนกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 500,000 ล้านบาท
รวมเป็นเงินลงทุน 1.66 ล้านล้านบาท
ดูแล้วเมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้นเรียบร้อย คงจะทำให้การเดินทางและขนส่งภายในประเทศมีความสะดวกสบายมากขึ้น มีการเชื่อมต่อทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกเหนือจากเรื่องสถานที่และสิ่งปลูกสร้างแล้ว ยังมีการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยจะเสนอสิทธิประโยชน์ในเรื่องของภาษีให้กับบางอุตสาหกรรมเป้าหมายในแผนไทยแลนด์ 4.0 ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีสูงสุดไม่เกิน 15 ปี หรือลดหย่อนภาษี 50% สำหรับกิจการอย่างโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ งานวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
ซึ่งก็น่าจะสามารถช่วยดึงดูดนักลงทุนจากทางภาคเอกชนทั้งในไทยและต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้เพิ่มมากขึ้น
นอกจากบริษัทผู้ผลิตใหญ่ๆ ที่มีโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่นี้อยู่แล้วอย่าง Toyota, Nissan, และ BMW ที่ได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนเพิ่มเติมมาแล้ว
ยังมี Alibaba บริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนก็กำลังจะสร้างฐาน e-Commerce และ logistics ในพื้นที่นี้ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการทำตลาดในภูมิภาคอาเซียน
รวมถึงการจับมือกันระหว่างการบินไทยและบริษัท Airbus เพื่อร่วมกันพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานขึ้นที่ สนามบินอู่ตะเภา
ถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่า ด้วยความที่เป็นโครงการระดับใหญ่และเงินลงทุนเยอะขนาดนี้ น่าจะทำมาเพื่อผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น
อย่าคิดว่ามันไกลตัวจากเรา..
จริงๆ แล้วผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SME ในทุกวันนี้กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต
รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบัน SME คิดเป็น 98% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ และยังสร้างงานให้กับคนมากกว่า 11 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 80% ของการจ้างงานทั้งหมด
การยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจครั้งนี้ จะสร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้ประกอบการรายย่อยไม่แพ้อุตสาหกรรมใหญ่ๆ
สำหรับธุรกิจ SME หรือแม้แต่ Startup พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนี้ยังเหมือนกับเป็นพื้นที่กลาง หรือเป็น community ที่คนจากธุรกิจคล้ายกันหรือแตกต่างกัน มีโอกาสได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันเอง
SME และ startup สามารถจะรวมตัวกันไปนำเสนอบริการ เจรจาธุรกิจ กับบริษัทขนาดใหญ่หรือโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมก็อยู่ไม่ไกล ซึ่งบริษัทขนาดเล็กนี้จะเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานใน EEC ที่หลายคนมองข้าม
พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนี้คงจะมองได้ว่าคล้ายกับพื้นที่ coworking space สำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นตั้งไข่ โดยมีเครื่องมือ สิ่งอำนวยความสะดวก และโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับไว้อย่างดี
เรียกได้ว่า EEC จะเปิดโอกาสให้นักธุรกิจใหม่ ได้มีโอกาสสร้างธุรกิจหรือ บริการที่จะรองรับเมืองใหม่ และอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้น
โครงการในระยะแรกนี้ก็น่าจะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะได้ใช้ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก เพราะอย่างที่หลายคนทราบ ประเทศไทยเป็นเหมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะจากจีนลงใต้ไปถึงอินโดนีเซีย หรือจากเวียดนามข้ามฝั่งไปเมียนมา
ก็มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตข้างหน้า เสือป่วยตัวนี้อาจจะได้กลายร่าง เป็นจุดศูนย์กลางที่เชื่อมต่อประเทศในแถบเอเชียและประเทศอื่นๆ ที่ใครก็อยากเข้ามาลงทุน ก็เป็นได้
ขอบคุณข้อมูล : longtunman
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.